ในช่วงแพร่ระบาดของโควิด-19 อีคอมเมิร์ซทำสถิติสูงสุดใหม่ในเอเชีย แต่การซื้อขายระหว่างประเทศในเอเชียด้วยกันยังคงมีอุปสรรค
เอเชียอาจครองส่วนแบ่งสูงสุดในตลาดอีคอมเมิร์ซโลกไปเรียบร้อยแล้ว แต่ศักยภาพการเติบโตในภูมิภาคที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวและระดับรายได้เพิ่มสูง ทำให้เอเชียยังคงเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ต้องจับตามองภายหลังสถานการณ์โควิด-19
ในช่วงที่มีการแพร่ระบาด การล็อคดาวน์และข้อจำกัดด้านการเดินทางเป็นตัวเร่งให้อีคอมเมิร์ซได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้น เพราะทั้งผู้บริโภคและธุรกิจต่างก็หันเข้าหาช่องทางออนไลน์เนื่องจากความต้องการซื้อมีมากขึ้น ทำให้ปริมาณการขนส่งและการส่งของด่วนทั่วโลกขยายตัวอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน วันนี้ คุณเคน ลี ซีอีโอ ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส เอเชียแปซิฟิก จะมาแชร์ความคิดเห็นเกี่ยวกับศักยภาพการเติบโตของอีคอมเมิร์ซเอเชีย ซึ่งเราเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจดิจิทัลและผู้ที่สนใจขยายตลาดสู่ต่างประเทศผ่านช่องทางออนไลน์อย่างแน่นอน
“ความเร็วในการเติบโตของอีคอมเมิร์ซทำให้เราประหลาดใจในตอนแรก แต่เราก็รู้ว่านี่เป็นเรื่องธรรมชาติมากๆ ถ้ามองว่าอีคอมเมิร์ซสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดด้วยการแก้ปัญหาขาดแคลนสินค้าที่เกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วนได้” คุณเคน ลี กล่าว
แต่อีคอมเมิร์ซภายในเอเชียเองยังเติบโตช้ากว่าภูมิภาคอื่นๆ การเอาชนะอุปสรรคเกี่ยวกับระเบียบราชการไปจนถึงความไม่คุ้นเคยกับตลาดประเทศเพื่อนบ้าน น่าจะช่วยปลดล็อคผู้ขายอีคอมเมิร์ซให้เข้าถึงโอกาสทางการค้าครั้งสำคัญในเอเชียได้
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้มีกิจกรรมมากมายที่ทำให้ผู้ขายอีคอมเมิร์ซไม่มีเวลาว่าง แม้โรคระบาดจะก่อให้เกิดการดิสรัปต์เกี่ยวกับการขนย้ายต่างๆ แต่จากรายงาน DHL Global Connectedness Index 2020 พบว่าการค้าโลกและการไหลเวียนของข้อมูลได้เริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว นอกจากนั้น การติดต่อระหว่างผู้คนที่ย้ายไปอยู่บนโลกออนไลน์ ก็ทำให้การเติบโตของปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ การใช้โทรศัพท์ และที่สำคัญที่สุดคืออีคอมเมิร์ซ เป็นไปอย่างถูกที่ถูกเวลาด้วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชีย กระแสความนิยมของอีคอมเมิร์ซพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันรายได้เกือบครึ่งหนึ่งของดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรสที่มาจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้มาจากการขนส่งระหว่างเอเชียด้วยกัน และอีคอมเมิร์ซในเอเชียเองก็ยังเติบโตได้อีกมาก “สินค้าขั้นกลางและสินค้าขั้นสุดท้ายถูกรวบรวมและผลิตขึ้นที่นี่เป็นส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันสินค้าเหล่านี้ก็ถูกขนส่งและบริโภคภายในเอเชียด้วยเช่นกัน” คุณเคน ลี กล่าว
ขณะที่อำนาจการจับจ่ายในภูมิภาคค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นจากสถานการณ์โรคระบาด การขยายตัวของอีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศที่สนับสนุนด้วยโซลูชั่นลอจิสติกส์ข้ามพรมแดน จะมีบทบาทสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาค
ความหวังจะได้เห็นอีคอมเมิร์ซในเอเชียเบ่งบานใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้
การวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้โดยดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส เน้นให้เห็นการเติบโตที่แข็งแกร่งของตลาดอีคอมเมิร์ซแบบ B2B ทั่วโลก ซึ่งคาดว่าจะเติบโตจาก 12.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2019 สู่ 20.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2027
“มีโรงงานและผู้ผลิตเอเชียจำนวนมากที่อยู่ในธุรกิจ B2B และเพิ่งจะก้าวสู่โลกอีคอมเมิร์ซ ผู้ที่เข้ามาก่อนจะมีโอกาสได้รับประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะในภูมิภาคที่มีธุรกิจเหล่านี้ตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก“ คุณเคน ลี กล่าวถึงอนาคตที่สดใสของภาคธุรกิจ
ธุรกิจอีคอมเมิร์ซแบบ B2C ก็โตแรงเช่นเดียวกัน โดยมีโรคระบาดเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ ตลาดอีคอมเมิร์ซแบบ B2C ทั่วโลก มีมูลค่า 3.67 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2020 และคาดว่าจะขยายตัวในอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) 9.7% นับตั้งแต่ปี 2021 ถึง 2028
พัฒนาการนี้ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ เนื่องจากการเติบโตอย่างรวดเร็วมีมาก่อนหน้าการระบาดของโควิด-19 แล้ว อุปสรรคในการก้าวสู่โลกอีคอมเมิร์ซลดลงมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยลดช่องว่างทางดิจิทัล
“อุปสรรคอย่างการเป็นเจ้าของสมาร์ทโฟนและการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตหายไปอย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงการระบาด เราได้เห็นว่าคนบางกลุ่มใช้โอกาสนี้ก้าวเข้าสู่ตลาดอีคอมเมิร์ซอย่าง eBay, Etsy และ Amazon เพื่อขายสินค้าของตนอย่างรวดเร็ว”
แม้จะมีความก้าวหน้าในการเข้าถึงอีคอมเมิร์ซ แต่การค้าข้ามพรมแดนผ่านออนไลน์และช่องทางอีคอมเมิร์ซในเอเชียก็ยังพัฒนาได้ช้าเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ
แต่ละพื้นที่และแต่ละประเทศต่างก็มีความท้าทายแตกต่างกันไป ในบางประเทศประชาชนอาจไม่มีอำนาจจับจ่าย หรืออาจต้องจ่ายภาษีเพื่อนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ สำหรับกรณีหลังนั้น คุณเคน ลีเชื่อว่าการแก้ปัญหาระยะยาวที่มีประสิทธิภาพควรเริ่มที่ประชาคมอาเซียน (ASEAN)
“เพื่อให้เอเชียซื้อขายมากขึ้นภายในเอเชียด้วยกัน ประชาคมอาเซียนอาจหาทางทำสนธิสัญญาเพื่อลดภาษีสำหรับประชาชาติอาเซียน โดยเฉพาะเมื่อมองว่ารายได้ที่โตเร็วที่สุดมาจากการเติบโตของชนชั้นกลางในอินโดนีเซีย”
สิ่งนี้และการค่อยๆ เปิดเศรษฐกิจในภูมิภาคภายหลังโควิด-19 จะเป็นแรงผลักดันและโอกาสใหม่ๆ ให้กับธุรกิจที่ต้องการทำอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนในเอเชีย คุณเคน ลี ให้ความเห็น
ในระยะเวลาอันใกล้ ภาคลอจิสติกส์จะยังคงเป็นส่วนช่วยสนับสนุนธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่ดีที่สุด เพื่อที่จะปลดล็อคไปสู่ตลาดอีคอมเมิร์ซขนาดใหญ่ในเอเชียที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์
“บางครั้ง สิ่งที่เราต้องการก็แค่การกระตุ้นเพื่อจะเริ่มต้น สิ่งที่ดีเอชแอลทำก็คือการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์อีคอมเมิร์ซในภูมิภาค เพื่อทำให้กระบวนการต่างๆ สำหรับลูกค้าที่ต้องการกระโดดเข้าร่วมเทรนด์อีคอมเมิร์ซเป็นเรื่องง่าย” คุณเคน ลี กล่าว
เช่นเดียวกับข้อห้ามในประเทศต่างๆ ที่มีขึ้นระหว่างการระบาด กฎเกณฑ์และข้อกำหนดที่ใช้ควบคุมการนำเข้าสินค้าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนยังคงมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้เป็นเรื่องยากสำหรับธุรกิจที่จะทำตามกฎเกณฑ์ต่างๆ
“ตัวอย่างเช่น หลายประเทศกำลังปรับพิกัดอัตราศุลกากรเพื่อให้สอดคล้องกับการนำเข้าส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้น เราช่วยเหลือผู้ขายโดยอัพเดทเครื่องมือชิปปิ้งของเราด้วยฟีเจอร์และการทำงานต่างๆ ที่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ลูกค้าของเราจึงไม่ต้องพบกับเรื่องประหลาดใจในภายหลัง” คุณเคนลี กล่าว
อีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศในเอเชียน่าจะเริ่มดีขึ้น และผู้ให้บริการลอจิสติกส์ส่วนใหญ่ก็เตรียมพร้อมรับเทรนด์ขาขึ้นของกิจกรรมต่างๆ เอาไว้แล้ว สำหรับ DHL Express เราได้เตรียมการปรับปรุงต่างๆ เพื่อให้ลูกค้าของเรามั่นใจว่าการส่งมอบสินค้าข้ามพรมแดนจะเป็นไปอย่างสะดวกและราบรื่นไม่สะดุด
“อีกไม่นานเราจะมีโซลูชั่นใหม่ที่ช่วยให้ผู้ขายสามารถจัดการข้อกำหนดเกี่ยวกับ KYC (การยืนยันตัวตนด้วยเอกสารที่ออกโดยรัฐบาล) ที่ออกโดยศุลกากรประเทศต่างๆ ได้ โดยยังรักษามาตรฐานความเป็นส่วนตัวและกระบวนการตามข้อกำหนดต่างๆ เอาไว้” คุณเคนลี กล่าว
การขจัดเรื่องยุ่งยากทางการค้าและศุลกากรไม่เพียงช่วยให้ผู้ขายอีคอมเมิร์ซสามารถโฟกัสกับธุรกิจหลักได้มากขึ้นเท่านั้น แต่ยังจะช่วยขยายประสบการณ์อีคอมเมิร์ซในเอเชียในอนาคตภายหลังจากที่โควิด-19 จบลงด้วย
อ่านเรื่องราวการลงทุนของ DHL Express เพื่อสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซได้ ที่นี่